ปุ๋ยหมักไม่กลับกอง
ปีเก่าผ่านไป ปีใหม่เวียนมา เป็นวันที่ 2 แล้ว
อากาศเช้านี้เย็นสบาย ฟาร์มทั้งฟาร์มเหมือนติดแอร์ จิบกาแฟยามเช้า และรองท้องด้วยกล้วยน้ำว้าสุก ก่อนที่จะออกไปขนฟางข้าว และหญ้าแห้ง มากองทำ #ปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกอง ตามวิธีการของเกษตรแม่โจ้
จะว่าไป ตอนผมเรียนจบใหม่ ผมเคยเป็นนักวิทยาศาสตร์การเกษตร ทำเรื่องปุ๋ยหมัก ที่กรมพัฒนาที่ดิน อยู่หลายเดือน ตอนนั้นยังไม่มี พด. แบบซอง ๆ เหมือนอย่างทุกวันนี้ น่าเสียดายว่า การพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดูเหมือนไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรครับ
แม้จะเป็นปีที่ 3 ที่ผมมาทำฟาร์มที่ Sweet 7 days Farm Diary บ้านเล็ก ๆ ชายป่า แต่ก็เพิ่งจะลงมือทำปุ๋ยหมักเป็นเรื่องเป็นราว ทั้ง ๆ ที่ความคิดเกี่ยวกับการ #ปรับปรุงคุณภาพดิน ด้วยอินทรีย์วัตถุ มีมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ทั้งนี้ เพราะการทำปุ๋ยหมักจะต้องใช้แรงงานเยอะทีเดียวครับ แต่ตอนนี้ ผมได้ทำตั้งแทงค์น้ำ จึงสามารถปล่อยน้ำมารดกองปุ๋ยหมักได้ ไม่ต้องเหนื่อยมาก
หลักการการทำปุ๋ยหมัก มีง่าย ๆ คือ สร้างระบบนิเวศให้จุลินทรีย์เจริญเติบโตได้ดี เพื่อจะย่อยสลายเศษซากพืช ระบบนิเวศที่ว่า ประกอบด้วยความชื้น (จากน้ำที่เรารด) คาร์บอน (จากเศษพืช) ไนโตรเจน (จากมูลสัตว์ ซึ่งเราใช้ปุ๋ยคอกใส่ลงไป) และที่สำคัญ คือ ออกซิเจน (ความโปร่งของกองปุ๋ยหมักที่ทำให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก)
ถ้าเราเข้าใจกลไกหลักในการทำงาน (mechanism) เราก็จะไม่สับสนกับบรรดาสิ่งที่ยูทูปเบอร์ หรือ กรูรูทั้งหลาย ที่รู้บ้างไม่รู้บ้าง ให้เราต้องเติมสารเร่ง เติมน้ำยา เติมเครื่องปรุงต่าง ๆ นานา เข้าไปในกองปุ๋ยหมักที่เราทำ ซึ่งล้วนแต่ต้องเสียเงินเสียทองซื้อเพิ่มมาโดยเปล่าประโยชน์ หรืออาจได้ประโยชน์บ้าง แต่ก็ไม่คุ้มกับทรัพยากรที่จ่ายไปครับ
เริ่มสายแล้ว ท้องเริ่มหิว กองปุ๋ยหมักเล็ก ๆ เสร็จเรียบร้อย หลังจากนี้ ก็เข้าสู่กระบวนการรดน้ำ เจาะน้ำเข้าไปในกอง รวมเวลา 2 เดือน ผมก็จะมีปุ๋ยหมัก สำหรับเป็นอาหารให้ต้นไม้ต่าง ๆ ที่ผมปลูกไว้ และผมคงทะยอยทำอีกหลาย ๆ กอง เพราะเศษหญ้าที่ตัดมีจำนวนมาก รวมทั้งขี้เหล็กที่ผมเด็ดใบอ่อนไปต้ม ตากแห้ง ซึ่งมีใบแก่จำนวนไม่น้อย ซึ่งปกติก็กอง ๆ เอาไว้เฉย ๆ ครับ
นิพนธ์
2 มกราคม 2566
#เรียนรู้ร่วมกัน #มหาลัยชีวิต #เรียนรู้ไม่รู้จบ #ห้องเรียนชีวิต #ออกแบบชีวิตตัวเอง #จากงานประจำสู่งานที่อยากทำ #ชีวิตหลังเกษียณ #ปุ๋ยหมักไม่กลับกอง
Leave a Reply